GameFever TH | เพราะเกมคือชีวิต
บทความ
เข้าสู่ระบบ
บทความ
[บทความ] Six Days in Fallujah กับจริยธรรมของการนำโศกนาฏกรรมทางประวัติศาสตร์มาทำเป็นเกม
ลงวันที่ 03/03/2022

เมื่อกล่าวถึงวิดีโอเกมในอดีตที่ถูกยกเลิกการพัฒนาด้วยสาเหตุกระแสต่อต้านจากสังคมอย่างรุนแรง “หกวันในฟัลลูจาห์” (Six Days in Fallujah) มักปรากฏแผ่หลาในบรรดารายชื่อเกมดังกล่าวเกือบทุกสำนักอย่างประจักษ์แจ้ง ด้วยความละเอียดอ่อนของประเด็น กับการนำโศกนาฏกรรม “ยุทธการฟัลลูจาห์ครั้งที่สอง” (Second Battle of Fallujah) มาทำเป็นวิดีโอเกมในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกับเหตุการณ์ ช่วงเวลาที่กระแสสังคมโลกอยู่ในภาวะตื่นตัวและต่อต้านสงครามอย่างเข้มข้น

แม้ว่าผู้พัฒนาอย่าง Atomic Games ตั้งใจให้เกมเป็นดั่งสื่อการสอนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ที่โลกมิอาจลืมก็ตาม แต่เราต่างทราบดีว่าท้ายที่สุด Konami ถอนตัวจากการจัดจำหน่ายเกมหกวันในฟัลลูจาห์และเกมถูกยกเลิกการพัฒนาในเวลาต่อมา ชื่อของเกมหายไปเป็นเวลา 11 ปีถ้วน แต่มันกลับมาอีกครั้งในปี ค.ศ. 2021 ในชื่อเดิม ความตั้งใจเดิม เพิ่มเติมกระแสต่อต้านไม่ต่างจากเดิม ว่าเกมตอกย้ำเหตุการณ์ดังกล่าวต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบ ประสบความสูญเสีย ลดทอนความเป็นมนุษย์ มุ่งสรรเสริญแก่ความรุนแรง สร้างความชอบธรรมในการทำสงคราม และมันไม่ต่างอะไรกับ 

“เครื่องจำลองการเข่นฆ่าชาวอาหรับ”
มุมมองทางประวัติศาสตร์ "ปฏิบัติการพรายพิโรธ" แห่งยุทธการฟัลลูจาห์

หากต้องการเข้าใจว่าเหตุใดจึงเกิดกระแสต่อต้านเกมหกวันในฟัลลูจาห์ เราจึงต้องเรียนรู้เหตุการณ์ดังกล่าวในแง่ประวัติศาสตร์เป็นอันดับแรก เพื่อให้เข้าใจมุมมองของผู้สูญเสียอย่างลึกซึ้ง


ยุทธการฟัลลูจาห์ครั้งที่สอง อุบัติในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึง ธันวาคม ปี ค.ศ. 2004 เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากยุทธการฟัลลูจาห์ครั้งแรก (First Battle of Fallujah) ในช่วงเดือนเมษายน ถึง พฤษภาคม ปี ค.ศ. 2004 ซึ่งยุทธการฟัลลูจาห์ครั้งแรกมีชนวนมาจากเหตุสังหารทหารรับจ้างที่สังกัดบริษัทรักษาความปลอดภัยแบล็กวอเตอร์ (Blackwater หรือปัจจุบันรู้จักในนาม Academi) 4 ราย ฝ่ายสหรัฐฯ จึงตอบโต้ด้วยการส่งนาวิกโยธินบุกยึดเมืองฟัลลูจาห์ เพื่อตามหาผู้ก่อเหตุดังกล่าว รวมถึงไล่ต้อนกวาดล้างกลุ่มผู้ก่อการจลาจล และกลุ่มหัวรุนแรงที่กบดานอยู่ในเมือง

ผลลัพธ์ของปฏิบัติการสร้างความเสียหายแก่ทั้งตัวเมืองและพลเรือนผู้บริสุทธิ์ด้วยการโจมตีทางอากาศ จนทางการอิรักต้องกดดันให้สหรัฐฯ ถอนกำลัง โดยมีข้อตกลงจากทั้งสองฝ่ายให้ก่อตั้งกองกำลังของกลุ่มคนในท้องถิ่น เรียกกันว่า กองพลน้อยแห่งฟัลลูจาห์ (Fallujah Brigade) คอยปกปักรักษา พร้อมขับไล่กลุ่มผู้ก่อการจลาจลไม่ให้เข้ามาครอบครองเมืองอีกต่อไป

ยุทธการฟัลลูจาห์ครั้งแรกส่งผลให้พลเรือนอิรักเสียชีวิตประมาณ 600 ราย โดย 300 รายคาดว่าเป็นผู้หญิงและเด็ก มีผู้ก่อการจลาจลเสียชีวิตประมาณ 200 ราย และนาวิกโยธินสหรัฐฯ เสียชีวิต 27 ราย

ต่อมา เกิดยุทธการฟัลลูจาห์ครั้งที่สอง เป็นปฏิบัติการร่วมระหว่างนาวิกโยธินสหรัฐอเมริกา, กองกำลังรักษาความปลอดภัยอิรัก และกองพันทหารราบของกองทหารแห่งสกอตแลนด์ หรือที่เรียกว่า “แบล็กวอทช์” (Black Watch) ดำเนินการในรหัสปฏิบัติการ “พรายพิโรธ” (Operation Phantom Fury)

เป้าหมายเช่นเดียวกับปฏิบัติการในครั้งก่อน คือบุกเข้าทวงคืนเมืองจากการขยายกองกำลังของผู้ก่อการจลาจลในเมืองฟัลลูจาห์ เป็นผลพวงจากความล้มเหลวของกองพลน้อยแห่งฟัลลูจาห์ รวมถึงความต้องการของสหรัฐฯ ในการสร้างเสถียรภาพทางความปลอดภัยก่อนการเลือกตั้งครั้งแรก หลังยุคการปกครองภายใต้รัฐบาลนำโดย ซัดดัม ฮุสเซน เพื่อเป้าหมายในการสร้างอิรักใหม่ จากระบอบเผด็จการสู่ระบอบประชาธิปไตย และตามล่า อาบู มูซาบ อัล-ซาร์กาวี ผู้นำเครือข่ายก่อการร้ายอัลกออิดะห์สาขาอิรัก ที่คาดว่าซ่อนตัวในเมืองฟัลลูจาห์ ซึ่งเป็นผู้นำก่อตั้งไอเอสหรือขบวนการรัฐอิสลามในเวลาต่อมา (Islamic State of Iraq หรือ The Islamic State of Iraq and the Levant หรือเรียกโดยย่อว่า ISIL)

ปฏิบัติการพรายพิโรธเริ่มต้นขึ้น ในวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 2004 ยุทธวิธีทุกตำราถูกนำมาใช้ร่วมกันระหว่างแต่ละกองทัพ นาวิกโยธินสหรัฐฯ ร่วมมือกับกองกำลังรักษาความปลอดภัยอิรัก ปิดล้อมทางเข้าออกเมืองเพื่อดักจับกลุ่มผู้ก่อการจลาจลและกลุ่มหัวรุนแรงที่หลบหนีออกนอกเมือง นาวิกโยธินสหรัฐฯ นำเครื่องบินติดอาวุธขนาดหนัก ล็อกฮีด เอซี-130 บินสำรวจและยิงเปิดฉากปราบปรามอาคารและยานพาหนะต้องสงสัย เกิดความวินาศสันตะโรในเมือง ตึกรามบ้านช่องพังย่อยยับ ประชาชนส่วนใหญ่จึงลี้ภัย เมืองจึงเต็มไปด้วยกลุ่มผู้ก่อการจลาจลและกลุ่มหัวรุนแรง


การโจมตีทางอากาศใส่อาคารที่ต้องสงสัยว่าเป็นแหล่งกบดานของเหล่ากลุ่มผู้ก่อการจลาจล วันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 2004 (แหล่งที่มา: รูปภาพจากนาวิกโยธินสหรัฐฯ ถ่ายโดย สิบตรี เจมส์ เจ วูริส)

สภาพแวดล้อมในเมือง เกือบทุกย่างก้าว เต็มไปด้วยกับดักระเบิด, กระสอบทรายกำบังกระสุน, อุโมงค์ใต้ดิน, หลุมเพลาะ และเครื่องกีดขวางการจราจร ทั้งจากฝีมือของกองพลน้อยแห่งฟัลลูจาห์ทำเอาไว้เพื่อปิดล้อมจัดการกับพวกกลุ่มผู้ก่อการจลาจลและกลุ่มหัวรุนแรงในช่วงหลังรับมอบหน้าที่จากสหรัฐฯ รวมถึงจากฝีมือตัวกลุ่มผู้ก่อการจลาจลและกลุ่มหัวรุนแรงที่ทำขึ้นเองหลังจากเข้าครอบงำเมืองฟัลลูจาห์

เมื่อไม่สามารถจัดการโจมตีทางอากาศกับพวกกลุ่มกองกำลังที่เหลือได้อีกต่อไป ฝ่ายสหรัฐฯ จึงเลือกใช้ยุทธวิธีในปฏิบัติการร่วม ซึ่งเป็นวิธีอันตรายที่สุด คือ การส่งกองกำลังไล่จัดการ เก็บกวาดฝ่ายตรงข้ามที่หลบซ่อนใน “ทุกอาคาร ทุกบ้าน ทุกหลัง ทุกห้อง” (room-clearing tactic) โดยมีการใช้วิธีระเบิดกำแพงสร้างทางเข้าแทนเข้าทางประตูตามปกติ เพื่อหลีกเลี่ยงกับดักระเบิดที่ถูกติดตั้งไว้ทั่วพื้นที่ รวมถึงวิธีการซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงจนถึงทุกวันนี้ กับการยิงลูกระเบิดหรือกราดกระสุนปืนใส่บ้านแต่ละหลัง ก่อนจะเข้าไปในบ้าน เผื่อว่าจะมีพวกกลุ่มผู้ก่อการจลาจลและกลุ่มหัวรุนแรงหลบอยู่ในบ้าน


นาวิกโยธินสหรัฐฯ เตรียมตัวเข้ากวาดล้างตึก วันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 2004 (แหล่งที่มา: รูปภาพจากกองทัพบกสหรัฐ ถ่ายโดย จ่าสิบเอก โยฮัน ชาร์ลส์ ฟาน บัวร์ส)

“วิธีการดังกล่าวทำให้เราปลอดภัย แต่ผมเพิ่งมารู้ในตอนหลังว่าพลเรือนหลายหมื่นชีวิตยังหลบอยู่ในบ้านระหว่างการดำเนินปฏิบัติการ วิธีการนี้มันให้พวกเขาตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง” คุณ รอส คาปูติ อดีตนาวิกโยธินสหรัฐฯ กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าว รวมถึงยังกล่าวว่า เขารู้สึกละอายใจอย่างยิ่งยวด กับสิ่งที่เคยได้ทำลงไป

ฝั่งนาวิกโยธินสหรัฐอเมริกา จัดตั้ง กรมทหารผสม (Regimental Combat Team) เป็นสองกรม กรมทหารผสมที่ 1 กับ กรมทหารผสมที่ 7 โดยกรมทหารผสมที่ 1 ได้รับหน้าที่ให้เป็นกองกำลังหลักสำหรับจู่โจม และให้กรมทหารผสมที่ 7 เป็นฝ่ายสนับสนุน ส่วนฝั่งแบล็กวอทช์ทำการกระจายตัวปิดล้อมบริเวณรอบนอกเมืองฟัลลูจาห์ อีกกระทั่งมีกองกำลังรักษาความปลอดภัยอิรักค่อยสนับสนุนและตรวจตราความสงบระหว่างปฏิบัติการ


แผนปฏิบัติการพรายพิโรธ (แหล่งที่มา: สำนักข่าวจากสถานีโทรทัศน์ CBS และสำนักข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ท้ายสุดปฏิบัติการสิ้นสุดอย่างสมบูรณ์ ในวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 2004 ฝ่ายกองกำลังของปฏิบัติการร่วมสามารถเข้าควบคุมเมืองได้ตามต้องการ แต่แลกมากับความสูญเสียอย่างประเมินค่ามิได้ ประชาชนเสียชีวิตโดยประมาณการไว้ว่าหลักพันราย กลุ่มผู้ก่อการจลาจลและกลุ่มหัวรุนแรงประมาณ 3,000 รายถูกสังหารหรือจับกุม ฝ่ายกองกำลังของปฏิบัติการร่วมถูกสังหารประมาณ 110 ราย และบาดเจ็บ 600 ราย 

บรรดานาวิกโยธินสหรัฐฯ ขนานนามว่าปฏิบัติการพรายพิโรธแห่งยุทธการฟัลลูจาห์เป็นสงครามในเมือง (urban warfare) ระดับหนักหนาสากรรจ์ที่สุดซึ่งนาวิกโยธินสหรัฐฯ มีส่วนร่วมด้วย นับตั้งแต่ ยุทธการเว้ (Battle of Huế City) ในสงครามเวียดนาม ปี ค.ศ. 1968


สภาพเมืองแสดงถึงผลกระทบจากการสู้รบ วันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 2004 (แหล่งที่มา: รูปภาพจากนาวิกโยธินสหรัฐฯ ถ่ายโดย สิบตรี เจมส์ เจ วูริส)

มุมมองของฝั่งผู้ต่อต้านการคงอยู่ของวิดีโอเกม จากผู้ได้รับผลกระทบจริง

เกมหกวันในฟัลลูจาห์กลับคืนสู่สายตาชาวโลกอีกครั้ง ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ 2021 หลังจากประกาศการกลับมาของเกมหกวันในฟัลลูจาห์ เกิดกระแสจากฝั่งผู้ต่อต้านเกม โดยเหตุผลหลักคือ ไม่เพียงตัวเกมมันกลับไปเปิดบาดแผลทางจิตใจของผู้ที่ประสบความสูญเสียจากเหตุการณ์ดังกล่าว อีกกระทั่งกังวลว่าตัวเกมจะกลบเกลื่อนประสบการณ์ความเจ็บปวดทางจิตใจ ลดทอนประเด็นสำคัญของเหตุการณ์ รวมถึงสร้างภาวะการเหมารวม (stereotype) ต่อชาวตะวันออกกลาง


คุณ นัจลา บาสซิม อับดุลลาห์ ผู้ประสบความสูญเสียจากเหตุการณ์ยุทธการฟัลลูจาห์โดยตรง คุณนัจลา ต้องเติบโตท่ามกลางสงคราม เผชิญกับความไม่สงบ เสียงระเบิดเสียงปืนจากการรบ ต้องพบเห็นเพื่อนของเธอโดนยิงต่อหน้าต่อตา ขณะเดินทางไปโรงเรียน คุณนัจลารู้สึกสะอิดสะเอียนกับการต้องมาเห็นเกมที่หาผลประโยชน์ ในขณะผู้คนซึ่งทนทุกข์ทรมานจากเหตุการณ์นี้ ต้องมาเห็นคนเล่นเกมนี้เพื่อความสนุกเท่านั้น คุณนัจลาคิดว่ามันมีหนทางอื่นที่ดีกว่าในการใช้เล่าเรื่องราวในฟัลลูจาห์ แทนที่จะเป็นวิดีโอเกม

“ฉันแค่ไม่สามารถก้าวข้ามเรื่องราวอันไร้มนุษยธรรมนี้ได้เลย” - คุณ นัจลา บาสซิม อับดุลลาห์ กล่าว
ส่วน คุณ โมฮัมเหม็ด ฮุสเซน ที่พ่อแม่ของเขาเป็นผู้อพยพจากสงครามอิรัก เขาก็รู้สึกไม่แตกต่างกับคุณนัจลา เขารู้สึกเจ็บปวดและไม่สบายใจ กังวลว่าเกมลดทอนประเด็นสำคัญของเหตุการณ์ และผู้เล่นจะให้ความสนใจกับความเป็น “เกม” เท่านั้น รวมถึงการสร้างอคติต่อชาวอิรัก

ไม่เพียงการต่อต้านจากผู้ได้รับผลกระทบสงคราม ยังมีการต่อต้านจากองค์กรที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้โดยตรง อย่าง สภาความสัมพันธ์อเมริกัน-อิสลาม (The Council on American-Islamic Relations หรือเรียกโดยย่อว่า CAIR) ซึ่งเป็นองค์กรพิทักษ์สิทธิพลเมืองของชาวอเมริกัน-อิสลาม รวมถึง องค์กรทหารผ่านศึกเพื่อสันติ (Veterans for Peace หรือเรียกโดยย่อว่า VFP) ทั้งสององค์กรได้จับมือกันร่วมยื่นคำร้องถึงบรรดาบริษัทวิดีโอเกมแนวหน้า อย่างไมโครซอฟท์, โซนี่ เอนเตอร์เทนเมนต์ และ วาล์ว ให้ยกเลิกการวางจำหน่ายเกมหกวันในฟัลลูจาห์ฉบับดิจิทัลในแพลตฟอร์มของตัวเอง

มุมมองของฝั่งผู้พัฒนาวิดีโอเกม กับวิดีโอเกมหกวันในฟัลลูจาห์

การกลับมาอีกคำรบของวิดีโอเกมหกวันในฟัลลูจาห์ มีผู้พัฒนารายใหม่คือ Highwire Games และ Victura เป็นผู้จัดจำหน่าย โดยการผลักดันโครงการจาก คุณ ปีเตอร์ เทมเต อดีต CEO ของทีมพัฒนา Atomic Games ปัจจุบันเป็นผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Victura ด้วยแรงจูงใจที่ถือว่าโครงการเกมดังกล่าว เป็น “โครงการแห่งชีวิต” ของเขาเลยทีเดียว

โครงการเกมนี้ในสมัยทีมพัฒนา Atomic Games เริ่มต้นขึ้นจากการที่คุณปีเตอร์ได้รับฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้นในยุทธการฟัลลูจาห์ รวมถึงประสบการณ์เฉียดตายโดยตรงจากเพื่อนของเขา คุณ เอ็ดดี้ การ์เซีย อดีตนาวิกโยธินสหรัฐฯ ที่ประสบเหตุโดนระเบิดจากปืนครกในยุทธการฟัลลูจาห์และถูกนำตัวออกจากสมรภูมิโดยทันที เขาถูกเคลื่อนย้ายตัวไปหลายแห่ง โรงพยาบาลสนามในฟัลลูจาห์, โรงพยาบาลในกรุงแบกแดด, โรงพยาบาลในประเทศเยอรมนี จนท้ายที่สุด โรงพยาบาลในสหรัฐฯ


คุณ เอ็ดดี้ การ์เซีย อดีตนาวิกโยธินสหรัฐฯ หนึ่งในผู้ให้คำปรึกษากับทีมพัฒนาเกมนี้ (แหล่งที่มา: Highwire Games และ Victura)

เรื่องราวดังกล่าวมันกวนใจคุณปีเตอร์อย่างมาก เขาแทบไม่ทราบจากที่ไหนมาก่อน ทั้งที่เป็นเรื่องราวสะเทือนใจพอ ๆ กับเรื่องราวอื่นในหน้าประวัติศาสตร์ และคุณเอ็ดดี้ก็ได้เสนอให้คุณปีเตอร์เล่าเรื่องดังกล่าวผ่านวิดีโอเกม “คนรุ่นเราเขาเล่นวิดีโอเกมกันนะ แกอยากจะเล่าเรื่องพวกนี้ผ่านวิดีโอเกมปะละ?” แน่นอนว่าคุณปีเตอร์ตอบตกลง พร้อมเริ่มโครงการเกมหกวันในฟัลลูจาห์ทันที

เรื่องราวการพัฒนาหลังจากนั้น เป็นอย่างที่เราทราบ เต็มไปด้วยกระแสโต้แย้งจากสังคม ว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควร กับการนำเหตุการณ์โศกนาฏกรรมดังกล่าวที่เพิ่งผ่านไปไม่กี่ปีมาสร้างเป็นวิดีโอเกม กังวลว่ามันจะเป็นการสร้างความชอบธรรมในการทำสงคราม รวมถึงตอกย้ำบาดแผลของผู้สูญเสียจากเหตุการณ์โดยตรง แม้ว่าความตั้งใจของคุณปีเตอร์คือเล่าเรื่องราวให้ซื่อตรงต่อความจริงมากที่สุดก็ตาม เขาอยากจะใช้เกมนำเสนอถึงประสบการณ์จริงของเหล่านาวิกโยธินสหรัฐฯ ต่อผู้เล่น การตัดสินใจเสี้ยววินาทีซึ่งส่งผลต่อความเป็นความตาย รวมถึงการตัดสินใจจากเบื้องบนที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของนาวิกโยธินสหรัฐฯ ในการเผชิญสถานการณ์จริง ไม่ใช่เรื่องที่ว่าสหรัฐฯ ควรส่งทหารไปอิรักหรือไม่


ภาพจากวิดีโอเกมหกวันในฟัลลูจาห์ ที่แสดงให้เห็นสถานการณ์ที่เกิดในยุทธการฟัลลูจาห์ครั้งที่สอง (แหล่งที่มา: Highwire Games และ Victura)

ไม่เพียงแต่นำเสนอมุมมองของฝ่ายนาวิกโยธินสหรัฐฯ เกมจะมีการนำเสนอมุมมองของฝั่งพลเรือนอิรักเช่นกัน ในการพัฒนาเกม มีการสัมภาษณ์ทั้งฝั่งนาวิกโยธินสหรัฐฯ และฝั่งพลเรือนอิรักมาโดยตลอด จึงไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวแค่มุมมองฝ่ายนาวิกโยธินสหรัฐฯ ฝั่งเดียว แต่ไม่มีการนำเสนอมุมมองของอัลกออิดะห์สาขาอิรักที่ปัจจุบันกลายเป็นไอเอส จะไม่มีการให้ผู้เล่นได้สวมบทบาทเป็นอัลกออิดะห์สาขาอิรัก แต่จะมีนำเสนอบริบทถึงเหตุก่อตัวของอัลกออิดะห์สาขาอิรัก เพื่อให้ผู้เล่นได้เข้าใจถึงสาเหตุการปะทุของการสู้รบ เกมไม่ต้องการให้ผู้เล่นเห็นอกเห็นใจต่อมุมมองของอัลกออิดะห์สาขาอิรัก

โดยสาเหตุที่กลับมาพัฒนาเกมนี้อีกครั้งเป็นรอบที่สอง คุณปีเตอร์กล่าวว่า เพราะเรื่องราวดังกล่าวยังไม่ถูกนำเสนอเสียที มันเป็นเรื่องที่ควรถูกเล่า หากเรื่องราวได้เผยแพร่ไป มันอาจสร้างคุณประโยชน์ กับการได้รับรู้เรื่องราวต่าง ๆ รวมถึงการที่เขารู้สึกว่า เขาทำให้บรรดาผู้คนเหล่านี้ผิดหวังในตัวเขา ผู้คนซึ่งมาแบ่งปันประสบการณ์ที่เจ็บปวดกับเขาเพื่อให้เขาได้แบ่งปันประสบการณ์นี้ผ่านเกมอีกทอดหนึ่ง เพราะเกมต้องถูกยกเลิกการพัฒนา อีกเหตุผลเพิ่มเติมคือ เขาอยากให้เกมได้เล่าเรื่องจริง เหตุการณ์จริงสักที หลายเกมอาจจะเคยเหล่าเรื่องจริง แต่ก็เป็นเพียงแค่ “บางส่วน” สุดท้ายวิดีโอเกมก็ถอยห่างจากการเล่าเรื่องจริงอยู่ดี

การนำเสนอประสบการณ์ในวิดีโอเกม นอกจากผ่านสารคดีที่ทำขึ้นมาเพื่อเกมนี้โดยเฉพาะ ยังมีการเล่าผ่านระบบเกมการเล่น อย่างระบบสุ่มตึกรามบ้านช่อง (Procedural Architecture)



เกมจะสุ่มไม่เพียงแต่รูปแบบภายในตัวอาคารอย่างที่เกมอื่นทำกันเป็นเรื่องปกติ แต่เป็นระดับการสุ่มรูปแบบทั้งในและนอกอาคาร รวมถึงรูปแบบของผังเมือง “ทั้งเมือง” เพื่อให้ผู้เล่นได้สัมผัสความตึงเครียดระดับสมจริงที่บรรดานาวิกโยธินสหรัฐฯ ต้องเผชิญ ในการใช้กลยุทธ์เก็บกวาดอาคารบ้านเรือนแบบห้องต่อห้อง ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ถูกนำมาใช้จริงตามประวัติศาสตร์อย่างที่เราได้กล่าวไว้ข้างต้น ไม่มีใครรู้ว่าต้องเจออะไรในบ้านหลังถัดไป ราวกับว่าทุกอย่างในเมืองมันเปลี่ยนไปตลอดเวลา ระบบดังกล่าวเป็นหนทางเดียวที่จะมอบประสบการณ์นี้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

“บางครั้ง ทางเดียวที่จะเข้าใจว่าอะไรคือเรื่องจริง คือการสัมผัสเรื่องจริงด้วยตัวคุณเอง”
“สงครามมันเต็มไปด้วยทางเลือกที่คลุมเครือและยาก (ที่จะตัดสินใจ) ซึ่งไม่สามารถเข้าใจผ่านการมองคนผ่านทีวีหรือจอหนังแล้ว (ให้เขา) ตัดสินใจแทนตัวคุณเอง วิดีโอเกมสามารถทำให้เราเข้าใจเหตุการณ์จริง ในหนทางที่สื่อชนิดอื่นไม่อาจทำได้” - คุณ เอ็ดดี้ การ์เซีย อดีตนาวิกโยธินสหรัฐฯ
ปัจจุบัน เกมถูกเลื่อนวางจำหน่าย จากเดิมปี ค.ศ. 2021 มาเป็นปี ค.ศ. 2022 หลังจากนี้ยังคงต้องจับตามองถึงกระแสการต่อต้านของเกมที่คุกรุ่นขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน กับชะตากรรมของเกมอันไม่แน่นอน ว่าจะได้วางจำหน่ายอย่างเป็นทางการเสียที หรือมีอันเป็นไป มิได้เห็นเดือนเห็นตะวัน ซ้ำรอยชะตากรรมในคำรบแรกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แหล่งข้อมูลอ้างอิง:


GameFever TH | เพราะเกมคือชีวิต
[บทความ] Six Days in Fallujah กับจริยธรรมของการนำโศกนาฏกรรมทางประวัติศาสตร์มาทำเป็นเกม
03/03/2022

เมื่อกล่าวถึงวิดีโอเกมในอดีตที่ถูกยกเลิกการพัฒนาด้วยสาเหตุกระแสต่อต้านจากสังคมอย่างรุนแรง “หกวันในฟัลลูจาห์” (Six Days in Fallujah) มักปรากฏแผ่หลาในบรรดารายชื่อเกมดังกล่าวเกือบทุกสำนักอย่างประจักษ์แจ้ง ด้วยความละเอียดอ่อนของประเด็น กับการนำโศกนาฏกรรม “ยุทธการฟัลลูจาห์ครั้งที่สอง” (Second Battle of Fallujah) มาทำเป็นวิดีโอเกมในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกับเหตุการณ์ ช่วงเวลาที่กระแสสังคมโลกอยู่ในภาวะตื่นตัวและต่อต้านสงครามอย่างเข้มข้น

แม้ว่าผู้พัฒนาอย่าง Atomic Games ตั้งใจให้เกมเป็นดั่งสื่อการสอนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ที่โลกมิอาจลืมก็ตาม แต่เราต่างทราบดีว่าท้ายที่สุด Konami ถอนตัวจากการจัดจำหน่ายเกมหกวันในฟัลลูจาห์และเกมถูกยกเลิกการพัฒนาในเวลาต่อมา ชื่อของเกมหายไปเป็นเวลา 11 ปีถ้วน แต่มันกลับมาอีกครั้งในปี ค.ศ. 2021 ในชื่อเดิม ความตั้งใจเดิม เพิ่มเติมกระแสต่อต้านไม่ต่างจากเดิม ว่าเกมตอกย้ำเหตุการณ์ดังกล่าวต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบ ประสบความสูญเสีย ลดทอนความเป็นมนุษย์ มุ่งสรรเสริญแก่ความรุนแรง สร้างความชอบธรรมในการทำสงคราม และมันไม่ต่างอะไรกับ 

“เครื่องจำลองการเข่นฆ่าชาวอาหรับ”
มุมมองทางประวัติศาสตร์ "ปฏิบัติการพรายพิโรธ" แห่งยุทธการฟัลลูจาห์

หากต้องการเข้าใจว่าเหตุใดจึงเกิดกระแสต่อต้านเกมหกวันในฟัลลูจาห์ เราจึงต้องเรียนรู้เหตุการณ์ดังกล่าวในแง่ประวัติศาสตร์เป็นอันดับแรก เพื่อให้เข้าใจมุมมองของผู้สูญเสียอย่างลึกซึ้ง


ยุทธการฟัลลูจาห์ครั้งที่สอง อุบัติในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึง ธันวาคม ปี ค.ศ. 2004 เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากยุทธการฟัลลูจาห์ครั้งแรก (First Battle of Fallujah) ในช่วงเดือนเมษายน ถึง พฤษภาคม ปี ค.ศ. 2004 ซึ่งยุทธการฟัลลูจาห์ครั้งแรกมีชนวนมาจากเหตุสังหารทหารรับจ้างที่สังกัดบริษัทรักษาความปลอดภัยแบล็กวอเตอร์ (Blackwater หรือปัจจุบันรู้จักในนาม Academi) 4 ราย ฝ่ายสหรัฐฯ จึงตอบโต้ด้วยการส่งนาวิกโยธินบุกยึดเมืองฟัลลูจาห์ เพื่อตามหาผู้ก่อเหตุดังกล่าว รวมถึงไล่ต้อนกวาดล้างกลุ่มผู้ก่อการจลาจล และกลุ่มหัวรุนแรงที่กบดานอยู่ในเมือง

ผลลัพธ์ของปฏิบัติการสร้างความเสียหายแก่ทั้งตัวเมืองและพลเรือนผู้บริสุทธิ์ด้วยการโจมตีทางอากาศ จนทางการอิรักต้องกดดันให้สหรัฐฯ ถอนกำลัง โดยมีข้อตกลงจากทั้งสองฝ่ายให้ก่อตั้งกองกำลังของกลุ่มคนในท้องถิ่น เรียกกันว่า กองพลน้อยแห่งฟัลลูจาห์ (Fallujah Brigade) คอยปกปักรักษา พร้อมขับไล่กลุ่มผู้ก่อการจลาจลไม่ให้เข้ามาครอบครองเมืองอีกต่อไป

ยุทธการฟัลลูจาห์ครั้งแรกส่งผลให้พลเรือนอิรักเสียชีวิตประมาณ 600 ราย โดย 300 รายคาดว่าเป็นผู้หญิงและเด็ก มีผู้ก่อการจลาจลเสียชีวิตประมาณ 200 ราย และนาวิกโยธินสหรัฐฯ เสียชีวิต 27 ราย

ต่อมา เกิดยุทธการฟัลลูจาห์ครั้งที่สอง เป็นปฏิบัติการร่วมระหว่างนาวิกโยธินสหรัฐอเมริกา, กองกำลังรักษาความปลอดภัยอิรัก และกองพันทหารราบของกองทหารแห่งสกอตแลนด์ หรือที่เรียกว่า “แบล็กวอทช์” (Black Watch) ดำเนินการในรหัสปฏิบัติการ “พรายพิโรธ” (Operation Phantom Fury)

เป้าหมายเช่นเดียวกับปฏิบัติการในครั้งก่อน คือบุกเข้าทวงคืนเมืองจากการขยายกองกำลังของผู้ก่อการจลาจลในเมืองฟัลลูจาห์ เป็นผลพวงจากความล้มเหลวของกองพลน้อยแห่งฟัลลูจาห์ รวมถึงความต้องการของสหรัฐฯ ในการสร้างเสถียรภาพทางความปลอดภัยก่อนการเลือกตั้งครั้งแรก หลังยุคการปกครองภายใต้รัฐบาลนำโดย ซัดดัม ฮุสเซน เพื่อเป้าหมายในการสร้างอิรักใหม่ จากระบอบเผด็จการสู่ระบอบประชาธิปไตย และตามล่า อาบู มูซาบ อัล-ซาร์กาวี ผู้นำเครือข่ายก่อการร้ายอัลกออิดะห์สาขาอิรัก ที่คาดว่าซ่อนตัวในเมืองฟัลลูจาห์ ซึ่งเป็นผู้นำก่อตั้งไอเอสหรือขบวนการรัฐอิสลามในเวลาต่อมา (Islamic State of Iraq หรือ The Islamic State of Iraq and the Levant หรือเรียกโดยย่อว่า ISIL)

ปฏิบัติการพรายพิโรธเริ่มต้นขึ้น ในวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 2004 ยุทธวิธีทุกตำราถูกนำมาใช้ร่วมกันระหว่างแต่ละกองทัพ นาวิกโยธินสหรัฐฯ ร่วมมือกับกองกำลังรักษาความปลอดภัยอิรัก ปิดล้อมทางเข้าออกเมืองเพื่อดักจับกลุ่มผู้ก่อการจลาจลและกลุ่มหัวรุนแรงที่หลบหนีออกนอกเมือง นาวิกโยธินสหรัฐฯ นำเครื่องบินติดอาวุธขนาดหนัก ล็อกฮีด เอซี-130 บินสำรวจและยิงเปิดฉากปราบปรามอาคารและยานพาหนะต้องสงสัย เกิดความวินาศสันตะโรในเมือง ตึกรามบ้านช่องพังย่อยยับ ประชาชนส่วนใหญ่จึงลี้ภัย เมืองจึงเต็มไปด้วยกลุ่มผู้ก่อการจลาจลและกลุ่มหัวรุนแรง


การโจมตีทางอากาศใส่อาคารที่ต้องสงสัยว่าเป็นแหล่งกบดานของเหล่ากลุ่มผู้ก่อการจลาจล วันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 2004 (แหล่งที่มา: รูปภาพจากนาวิกโยธินสหรัฐฯ ถ่ายโดย สิบตรี เจมส์ เจ วูริส)

สภาพแวดล้อมในเมือง เกือบทุกย่างก้าว เต็มไปด้วยกับดักระเบิด, กระสอบทรายกำบังกระสุน, อุโมงค์ใต้ดิน, หลุมเพลาะ และเครื่องกีดขวางการจราจร ทั้งจากฝีมือของกองพลน้อยแห่งฟัลลูจาห์ทำเอาไว้เพื่อปิดล้อมจัดการกับพวกกลุ่มผู้ก่อการจลาจลและกลุ่มหัวรุนแรงในช่วงหลังรับมอบหน้าที่จากสหรัฐฯ รวมถึงจากฝีมือตัวกลุ่มผู้ก่อการจลาจลและกลุ่มหัวรุนแรงที่ทำขึ้นเองหลังจากเข้าครอบงำเมืองฟัลลูจาห์

เมื่อไม่สามารถจัดการโจมตีทางอากาศกับพวกกลุ่มกองกำลังที่เหลือได้อีกต่อไป ฝ่ายสหรัฐฯ จึงเลือกใช้ยุทธวิธีในปฏิบัติการร่วม ซึ่งเป็นวิธีอันตรายที่สุด คือ การส่งกองกำลังไล่จัดการ เก็บกวาดฝ่ายตรงข้ามที่หลบซ่อนใน “ทุกอาคาร ทุกบ้าน ทุกหลัง ทุกห้อง” (room-clearing tactic) โดยมีการใช้วิธีระเบิดกำแพงสร้างทางเข้าแทนเข้าทางประตูตามปกติ เพื่อหลีกเลี่ยงกับดักระเบิดที่ถูกติดตั้งไว้ทั่วพื้นที่ รวมถึงวิธีการซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงจนถึงทุกวันนี้ กับการยิงลูกระเบิดหรือกราดกระสุนปืนใส่บ้านแต่ละหลัง ก่อนจะเข้าไปในบ้าน เผื่อว่าจะมีพวกกลุ่มผู้ก่อการจลาจลและกลุ่มหัวรุนแรงหลบอยู่ในบ้าน


นาวิกโยธินสหรัฐฯ เตรียมตัวเข้ากวาดล้างตึก วันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 2004 (แหล่งที่มา: รูปภาพจากกองทัพบกสหรัฐ ถ่ายโดย จ่าสิบเอก โยฮัน ชาร์ลส์ ฟาน บัวร์ส)

“วิธีการดังกล่าวทำให้เราปลอดภัย แต่ผมเพิ่งมารู้ในตอนหลังว่าพลเรือนหลายหมื่นชีวิตยังหลบอยู่ในบ้านระหว่างการดำเนินปฏิบัติการ วิธีการนี้มันให้พวกเขาตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง” คุณ รอส คาปูติ อดีตนาวิกโยธินสหรัฐฯ กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าว รวมถึงยังกล่าวว่า เขารู้สึกละอายใจอย่างยิ่งยวด กับสิ่งที่เคยได้ทำลงไป

ฝั่งนาวิกโยธินสหรัฐอเมริกา จัดตั้ง กรมทหารผสม (Regimental Combat Team) เป็นสองกรม กรมทหารผสมที่ 1 กับ กรมทหารผสมที่ 7 โดยกรมทหารผสมที่ 1 ได้รับหน้าที่ให้เป็นกองกำลังหลักสำหรับจู่โจม และให้กรมทหารผสมที่ 7 เป็นฝ่ายสนับสนุน ส่วนฝั่งแบล็กวอทช์ทำการกระจายตัวปิดล้อมบริเวณรอบนอกเมืองฟัลลูจาห์ อีกกระทั่งมีกองกำลังรักษาความปลอดภัยอิรักค่อยสนับสนุนและตรวจตราความสงบระหว่างปฏิบัติการ


แผนปฏิบัติการพรายพิโรธ (แหล่งที่มา: สำนักข่าวจากสถานีโทรทัศน์ CBS และสำนักข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ท้ายสุดปฏิบัติการสิ้นสุดอย่างสมบูรณ์ ในวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 2004 ฝ่ายกองกำลังของปฏิบัติการร่วมสามารถเข้าควบคุมเมืองได้ตามต้องการ แต่แลกมากับความสูญเสียอย่างประเมินค่ามิได้ ประชาชนเสียชีวิตโดยประมาณการไว้ว่าหลักพันราย กลุ่มผู้ก่อการจลาจลและกลุ่มหัวรุนแรงประมาณ 3,000 รายถูกสังหารหรือจับกุม ฝ่ายกองกำลังของปฏิบัติการร่วมถูกสังหารประมาณ 110 ราย และบาดเจ็บ 600 ราย 

บรรดานาวิกโยธินสหรัฐฯ ขนานนามว่าปฏิบัติการพรายพิโรธแห่งยุทธการฟัลลูจาห์เป็นสงครามในเมือง (urban warfare) ระดับหนักหนาสากรรจ์ที่สุดซึ่งนาวิกโยธินสหรัฐฯ มีส่วนร่วมด้วย นับตั้งแต่ ยุทธการเว้ (Battle of Huế City) ในสงครามเวียดนาม ปี ค.ศ. 1968


สภาพเมืองแสดงถึงผลกระทบจากการสู้รบ วันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 2004 (แหล่งที่มา: รูปภาพจากนาวิกโยธินสหรัฐฯ ถ่ายโดย สิบตรี เจมส์ เจ วูริส)

มุมมองของฝั่งผู้ต่อต้านการคงอยู่ของวิดีโอเกม จากผู้ได้รับผลกระทบจริง

เกมหกวันในฟัลลูจาห์กลับคืนสู่สายตาชาวโลกอีกครั้ง ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ 2021 หลังจากประกาศการกลับมาของเกมหกวันในฟัลลูจาห์ เกิดกระแสจากฝั่งผู้ต่อต้านเกม โดยเหตุผลหลักคือ ไม่เพียงตัวเกมมันกลับไปเปิดบาดแผลทางจิตใจของผู้ที่ประสบความสูญเสียจากเหตุการณ์ดังกล่าว อีกกระทั่งกังวลว่าตัวเกมจะกลบเกลื่อนประสบการณ์ความเจ็บปวดทางจิตใจ ลดทอนประเด็นสำคัญของเหตุการณ์ รวมถึงสร้างภาวะการเหมารวม (stereotype) ต่อชาวตะวันออกกลาง


คุณ นัจลา บาสซิม อับดุลลาห์ ผู้ประสบความสูญเสียจากเหตุการณ์ยุทธการฟัลลูจาห์โดยตรง คุณนัจลา ต้องเติบโตท่ามกลางสงคราม เผชิญกับความไม่สงบ เสียงระเบิดเสียงปืนจากการรบ ต้องพบเห็นเพื่อนของเธอโดนยิงต่อหน้าต่อตา ขณะเดินทางไปโรงเรียน คุณนัจลารู้สึกสะอิดสะเอียนกับการต้องมาเห็นเกมที่หาผลประโยชน์ ในขณะผู้คนซึ่งทนทุกข์ทรมานจากเหตุการณ์นี้ ต้องมาเห็นคนเล่นเกมนี้เพื่อความสนุกเท่านั้น คุณนัจลาคิดว่ามันมีหนทางอื่นที่ดีกว่าในการใช้เล่าเรื่องราวในฟัลลูจาห์ แทนที่จะเป็นวิดีโอเกม

“ฉันแค่ไม่สามารถก้าวข้ามเรื่องราวอันไร้มนุษยธรรมนี้ได้เลย” - คุณ นัจลา บาสซิม อับดุลลาห์ กล่าว
ส่วน คุณ โมฮัมเหม็ด ฮุสเซน ที่พ่อแม่ของเขาเป็นผู้อพยพจากสงครามอิรัก เขาก็รู้สึกไม่แตกต่างกับคุณนัจลา เขารู้สึกเจ็บปวดและไม่สบายใจ กังวลว่าเกมลดทอนประเด็นสำคัญของเหตุการณ์ และผู้เล่นจะให้ความสนใจกับความเป็น “เกม” เท่านั้น รวมถึงการสร้างอคติต่อชาวอิรัก

ไม่เพียงการต่อต้านจากผู้ได้รับผลกระทบสงคราม ยังมีการต่อต้านจากองค์กรที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้โดยตรง อย่าง สภาความสัมพันธ์อเมริกัน-อิสลาม (The Council on American-Islamic Relations หรือเรียกโดยย่อว่า CAIR) ซึ่งเป็นองค์กรพิทักษ์สิทธิพลเมืองของชาวอเมริกัน-อิสลาม รวมถึง องค์กรทหารผ่านศึกเพื่อสันติ (Veterans for Peace หรือเรียกโดยย่อว่า VFP) ทั้งสององค์กรได้จับมือกันร่วมยื่นคำร้องถึงบรรดาบริษัทวิดีโอเกมแนวหน้า อย่างไมโครซอฟท์, โซนี่ เอนเตอร์เทนเมนต์ และ วาล์ว ให้ยกเลิกการวางจำหน่ายเกมหกวันในฟัลลูจาห์ฉบับดิจิทัลในแพลตฟอร์มของตัวเอง

มุมมองของฝั่งผู้พัฒนาวิดีโอเกม กับวิดีโอเกมหกวันในฟัลลูจาห์

การกลับมาอีกคำรบของวิดีโอเกมหกวันในฟัลลูจาห์ มีผู้พัฒนารายใหม่คือ Highwire Games และ Victura เป็นผู้จัดจำหน่าย โดยการผลักดันโครงการจาก คุณ ปีเตอร์ เทมเต อดีต CEO ของทีมพัฒนา Atomic Games ปัจจุบันเป็นผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Victura ด้วยแรงจูงใจที่ถือว่าโครงการเกมดังกล่าว เป็น “โครงการแห่งชีวิต” ของเขาเลยทีเดียว

โครงการเกมนี้ในสมัยทีมพัฒนา Atomic Games เริ่มต้นขึ้นจากการที่คุณปีเตอร์ได้รับฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้นในยุทธการฟัลลูจาห์ รวมถึงประสบการณ์เฉียดตายโดยตรงจากเพื่อนของเขา คุณ เอ็ดดี้ การ์เซีย อดีตนาวิกโยธินสหรัฐฯ ที่ประสบเหตุโดนระเบิดจากปืนครกในยุทธการฟัลลูจาห์และถูกนำตัวออกจากสมรภูมิโดยทันที เขาถูกเคลื่อนย้ายตัวไปหลายแห่ง โรงพยาบาลสนามในฟัลลูจาห์, โรงพยาบาลในกรุงแบกแดด, โรงพยาบาลในประเทศเยอรมนี จนท้ายที่สุด โรงพยาบาลในสหรัฐฯ


คุณ เอ็ดดี้ การ์เซีย อดีตนาวิกโยธินสหรัฐฯ หนึ่งในผู้ให้คำปรึกษากับทีมพัฒนาเกมนี้ (แหล่งที่มา: Highwire Games และ Victura)

เรื่องราวดังกล่าวมันกวนใจคุณปีเตอร์อย่างมาก เขาแทบไม่ทราบจากที่ไหนมาก่อน ทั้งที่เป็นเรื่องราวสะเทือนใจพอ ๆ กับเรื่องราวอื่นในหน้าประวัติศาสตร์ และคุณเอ็ดดี้ก็ได้เสนอให้คุณปีเตอร์เล่าเรื่องดังกล่าวผ่านวิดีโอเกม “คนรุ่นเราเขาเล่นวิดีโอเกมกันนะ แกอยากจะเล่าเรื่องพวกนี้ผ่านวิดีโอเกมปะละ?” แน่นอนว่าคุณปีเตอร์ตอบตกลง พร้อมเริ่มโครงการเกมหกวันในฟัลลูจาห์ทันที

เรื่องราวการพัฒนาหลังจากนั้น เป็นอย่างที่เราทราบ เต็มไปด้วยกระแสโต้แย้งจากสังคม ว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควร กับการนำเหตุการณ์โศกนาฏกรรมดังกล่าวที่เพิ่งผ่านไปไม่กี่ปีมาสร้างเป็นวิดีโอเกม กังวลว่ามันจะเป็นการสร้างความชอบธรรมในการทำสงคราม รวมถึงตอกย้ำบาดแผลของผู้สูญเสียจากเหตุการณ์โดยตรง แม้ว่าความตั้งใจของคุณปีเตอร์คือเล่าเรื่องราวให้ซื่อตรงต่อความจริงมากที่สุดก็ตาม เขาอยากจะใช้เกมนำเสนอถึงประสบการณ์จริงของเหล่านาวิกโยธินสหรัฐฯ ต่อผู้เล่น การตัดสินใจเสี้ยววินาทีซึ่งส่งผลต่อความเป็นความตาย รวมถึงการตัดสินใจจากเบื้องบนที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของนาวิกโยธินสหรัฐฯ ในการเผชิญสถานการณ์จริง ไม่ใช่เรื่องที่ว่าสหรัฐฯ ควรส่งทหารไปอิรักหรือไม่


ภาพจากวิดีโอเกมหกวันในฟัลลูจาห์ ที่แสดงให้เห็นสถานการณ์ที่เกิดในยุทธการฟัลลูจาห์ครั้งที่สอง (แหล่งที่มา: Highwire Games และ Victura)

ไม่เพียงแต่นำเสนอมุมมองของฝ่ายนาวิกโยธินสหรัฐฯ เกมจะมีการนำเสนอมุมมองของฝั่งพลเรือนอิรักเช่นกัน ในการพัฒนาเกม มีการสัมภาษณ์ทั้งฝั่งนาวิกโยธินสหรัฐฯ และฝั่งพลเรือนอิรักมาโดยตลอด จึงไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวแค่มุมมองฝ่ายนาวิกโยธินสหรัฐฯ ฝั่งเดียว แต่ไม่มีการนำเสนอมุมมองของอัลกออิดะห์สาขาอิรักที่ปัจจุบันกลายเป็นไอเอส จะไม่มีการให้ผู้เล่นได้สวมบทบาทเป็นอัลกออิดะห์สาขาอิรัก แต่จะมีนำเสนอบริบทถึงเหตุก่อตัวของอัลกออิดะห์สาขาอิรัก เพื่อให้ผู้เล่นได้เข้าใจถึงสาเหตุการปะทุของการสู้รบ เกมไม่ต้องการให้ผู้เล่นเห็นอกเห็นใจต่อมุมมองของอัลกออิดะห์สาขาอิรัก

โดยสาเหตุที่กลับมาพัฒนาเกมนี้อีกครั้งเป็นรอบที่สอง คุณปีเตอร์กล่าวว่า เพราะเรื่องราวดังกล่าวยังไม่ถูกนำเสนอเสียที มันเป็นเรื่องที่ควรถูกเล่า หากเรื่องราวได้เผยแพร่ไป มันอาจสร้างคุณประโยชน์ กับการได้รับรู้เรื่องราวต่าง ๆ รวมถึงการที่เขารู้สึกว่า เขาทำให้บรรดาผู้คนเหล่านี้ผิดหวังในตัวเขา ผู้คนซึ่งมาแบ่งปันประสบการณ์ที่เจ็บปวดกับเขาเพื่อให้เขาได้แบ่งปันประสบการณ์นี้ผ่านเกมอีกทอดหนึ่ง เพราะเกมต้องถูกยกเลิกการพัฒนา อีกเหตุผลเพิ่มเติมคือ เขาอยากให้เกมได้เล่าเรื่องจริง เหตุการณ์จริงสักที หลายเกมอาจจะเคยเหล่าเรื่องจริง แต่ก็เป็นเพียงแค่ “บางส่วน” สุดท้ายวิดีโอเกมก็ถอยห่างจากการเล่าเรื่องจริงอยู่ดี

การนำเสนอประสบการณ์ในวิดีโอเกม นอกจากผ่านสารคดีที่ทำขึ้นมาเพื่อเกมนี้โดยเฉพาะ ยังมีการเล่าผ่านระบบเกมการเล่น อย่างระบบสุ่มตึกรามบ้านช่อง (Procedural Architecture)



เกมจะสุ่มไม่เพียงแต่รูปแบบภายในตัวอาคารอย่างที่เกมอื่นทำกันเป็นเรื่องปกติ แต่เป็นระดับการสุ่มรูปแบบทั้งในและนอกอาคาร รวมถึงรูปแบบของผังเมือง “ทั้งเมือง” เพื่อให้ผู้เล่นได้สัมผัสความตึงเครียดระดับสมจริงที่บรรดานาวิกโยธินสหรัฐฯ ต้องเผชิญ ในการใช้กลยุทธ์เก็บกวาดอาคารบ้านเรือนแบบห้องต่อห้อง ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ถูกนำมาใช้จริงตามประวัติศาสตร์อย่างที่เราได้กล่าวไว้ข้างต้น ไม่มีใครรู้ว่าต้องเจออะไรในบ้านหลังถัดไป ราวกับว่าทุกอย่างในเมืองมันเปลี่ยนไปตลอดเวลา ระบบดังกล่าวเป็นหนทางเดียวที่จะมอบประสบการณ์นี้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

“บางครั้ง ทางเดียวที่จะเข้าใจว่าอะไรคือเรื่องจริง คือการสัมผัสเรื่องจริงด้วยตัวคุณเอง”
“สงครามมันเต็มไปด้วยทางเลือกที่คลุมเครือและยาก (ที่จะตัดสินใจ) ซึ่งไม่สามารถเข้าใจผ่านการมองคนผ่านทีวีหรือจอหนังแล้ว (ให้เขา) ตัดสินใจแทนตัวคุณเอง วิดีโอเกมสามารถทำให้เราเข้าใจเหตุการณ์จริง ในหนทางที่สื่อชนิดอื่นไม่อาจทำได้” - คุณ เอ็ดดี้ การ์เซีย อดีตนาวิกโยธินสหรัฐฯ
ปัจจุบัน เกมถูกเลื่อนวางจำหน่าย จากเดิมปี ค.ศ. 2021 มาเป็นปี ค.ศ. 2022 หลังจากนี้ยังคงต้องจับตามองถึงกระแสการต่อต้านของเกมที่คุกรุ่นขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน กับชะตากรรมของเกมอันไม่แน่นอน ว่าจะได้วางจำหน่ายอย่างเป็นทางการเสียที หรือมีอันเป็นไป มิได้เห็นเดือนเห็นตะวัน ซ้ำรอยชะตากรรมในคำรบแรกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แหล่งข้อมูลอ้างอิง:


บทความที่คล้ายกัน

ล่าสุด
Ragnarok Origin รวมไกด์แนวทางการเล่นทั้งหมดของเกม(อัปเดตเรื่อย ๆ)
testprofile
YeeTester2
test
IHu
[เกมลดเป๋าสั่น] Euro Truck Simulator 2 เกมขับสิบล้อเน้นสมจริง และมีให้เล่นแบบ Coop ลดเหลือ 102 บาท!
IHu
วิธีรับ The Evil Within เกมสยองชื่อดังแนว Survival Horror กำลังแจกฟรี!
IHu
[ขุมทรัพย์ GF] รู้จักกับ Drug Dealer Simulator 2 เกม Coop Open World ให้เล่นเป็นเด็กส่งยากับเพื่อน!
IHu
Editors' Choice
[แนะนำเกม] Spire Horizon เกม RPG Open World ฝีมือคนไทย ! กับการตามหาตัวตนของโครงกระดูก ผจญภัยในโลกจินตนาการ
YoJung
The Ants: Underground Kingdom เกมดูแลอาณาจักรมด ประกาศกิจกรรมฉลองคร 2 ปี รับ Code รางวัลพิเศษก่อนใครที่นี่เลย!
BASUP!
PS VR2 + HORIZON: CALL OF THE MOUNTAIN REVIEW "ประสบการณ์ VR สุดล้ำหน้า กับความคุ้มค่าที่ยังไม่มีคำตอบ"
OcelotBoy
[โชว์ห่วย] ย้อนรอยหนังดัง Super Mario Bros. The Movie (1993) กับความพังที่ยากจะให้อภัย
sLAUGHTER
Show header